l o m b o g
ลมบกพัดออกทะเล

นิราศเลยเถิด June 26, 2011

26 มิถุนายน เป็นวันสุนทรภู่

จึงไปขุดเอากลอนนิราศที่เขียนไว้ตอนไปเที่ยว ‘เมืองเลย’ เมื่อปีที่แล้ว ขึ้นมาอวด

นิราศเลยเถิด

@ อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก   แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย

ถึงปากชมใจคิดเชือดให้วางวาย   เจ็บจนตายไม่เท่าเหน็บเจ็บใจเรา

จาก ปากชม ลัดเลาะเลียบลำน้ำโขง   มีลำโพงเปิดเพลงไว้ให้คลายเหงา

เดินทางไกลฉายเดี่ยวเชียวนะเรา   ซ่อนความเศร้าซุกโศกไว้ไม่อายคน

@ ไม่เมาเหล้าหรอกแต่เรายังเมารถ   สุดสะกดห้ามจิตคิดฉงน

ขับเอง เมาเอง เอ้อ แปลกคน   โทษถนนที่โค้งคดรันทดใจ

ซ้ายเป็นผาขวาเป็นน้ำจำให้เคร่ง   ขวาคันเร่งซ้ายก็เบรคอย่าเฉไฉ

รถเลี้ยวซ้ายท้ายปัดขวาผวาไป   เผลอพลาดไซร้ไร้จริตชีวิตหมด

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจถนน   มันวกวนลึกล้ำเหลือกำหนด

แก่งคุดคู้ ที่โค้งเคี้ยวและเลี้ยวลด   ยังไม่คดเช่นดั่งน้ำคำใคร

@ ที่ เชียงคาน มีเรือนเรียงเคียงตลิ่ง   แพลอยนิ่งริมโขงผูกโยงสาย

หมอกจางจางยามเช้าสัมผัสกาย   ดาวพร่างพรายยามค่ำคืนชื่นกมล

อยากหอบเอาความขมขื่นทิ้งลงโขง   ปล่อยไหลลงไหลลับเลิกสับสน

แต่ความจริงยากนักชักอับจน   เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย

อยู่ เชียงคาน ค้างสองคืนใจคลายวุ่น   สี่ล้อหมุนเดินทางต่ออย่ารอเฉย

ลมยังโบกน้ำยังไหลไม่พักเลย   สระเอยลงยากลำบากจัง

@ อ้าว..เมือง เลย ผ่านเลยไม่เคยถึง   เอื้อมมือดึงแผนที่มาคลี่กว้าง

ผ่านตอนไหน เอ๊ะ หรือเราหลงทาง   อยู่ข้างหลังผ่านแล้ว เลย เลยช่างมัน

เห็น ภูเรือ เป็นเรือน้อยที่ลอยล่อง   เทียวทั่วท่องทางไกลเหมือนใจฝัน

จะนั่งรถล่องเรือไม่ต่างกัน   สู่คืนวันที่หมายปองด้วยสองมือ

วังสะพุง อยู่ที่ใดใครรู้บ้าง   อยู่ข้างข้างวังสะเอวนั่นน่ะหรือ

ตรงใจกลางนั้นคงเรียกวังสะดือ   ข้างหลังคือวังสะโพกโศกหัวใจ

ตั้งตระหง่านตรงหน้า ผานกเค้า แล้วนกเรานั้นเล่าอยู่แห่งไหน

นกของฉัน นกของเธอ นกของใคร   นกเค้าไซร้มิใช่นกตัวเอง

ภูกระดึง คิดถึงเคยเดินท่อง   มีเราสองเคียงคู่ดูเหมาะเหม็ง

กระซิบคำบอกกล่าว“เค้ารักตะเอง”   ยินบทเพลงรักห่มเราหนาวก็คลาย

@ ผ่านทางโค้งถนนแคบเจ็บแปลบร้าว   ภาพเก่าเก่าย้อนคืนมิห่างหาย

อดีตแสนสวยงามบ่จางไป   ยามนี้กลับมาทำร้ายใจลำเค็ญ

ภูผาม่าน มีม่านฝนถนนฉ่ำ   โปรยหยดน้ำอำพรางทางไม่เห็น

เปิดใบพัดปัดกระจกน้ำกระเซ็น   ที่แท้เป็นน้ำตาเราเศร้าฤดี

ถึง น้ำหนาว หน้านี้พี่หนาวหนัก   คนเคยรักแนบเนามาหน่ายหนี

พี่ถนอมนวลน้องมานานปี   น้องหลบรี้พี่ระทมตรมอุรา

ถึง หล่มสัก ฉันมีรักมักติดหล่ม  รสรักขมยังคิดถึงคนึงหา

เฝ้ารอคอยรักแท้เดินทางมา  แม้รู้ว่าความหวังยังยาวไกล

@ จงทราบความตามเล่าดังกล่าวสิ้น   อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน

นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ     จึงร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอยฯ

ลมบก // ธันวาคม 2553

*เนื้อความบางส่วนดัดแปลงจากคำกลอนของสุนทรภู่

แผนที่ประกอบนิราศ


 

No Comments on นิราศเลยเถิด

ข้างหน้าที่ทิ้งไว้ คือรอยเท้าที่พ่อเดิน December 6, 2010

ในยุคก่อนนี้
กิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ ยังนิยมเทิดพระเกียรติด้วยการกล่าวอาเศียรวาท รำถวายพระพร หรือการถ่ายทำสารคดีพระราชประวัติและโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นการสื่อสารตรงไปตรงมา เพื่อเน้นย้ำกับผู้ชมถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

จนกระทั่ง พ.ศ.2542 ประภาส ชลศรานนท์ ได้เสนอโครงการละครเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 โดยรวบรวมพระราชดำรัสและโครงการในพระราชดำริ มาประมวลขึ้นเป็นละครโทรทัศน์ 6 เรื่อง และคัดสรร 6 นักแสดงยอดฝีมือ ณ เวลานั้น มารับบทสำคัญในละคร ประกอบด้วย

เพลงของพ่อ นำแสดงโดย นพพล โกมารชุน
http://www.youtube.com/watch?v=jv9AcW7PcCE

ชีวิตที่พอเพียง นำแสดงโดย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง
http://www.youtube.com/watch?v=gBR3-M3DqUY

วัคซีน นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี
http://www.youtube.com/watch?v=wFeUHgu_vuI

ถั่วแดงหลวง นำแสดงโดย ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง
http://www.youtube.com/watch?v=quU4kLefmIA

เทียนขี้ผึ้ง นำแสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
http://www.youtube.com/watch?v=RYV-P62mYpc

ความฝันอันสูงสุด นำแสดงโดย วิลลี่ แมคอินทอช
http://www.youtube.com/watch?v=kJ31iK-2VmY

ฉากของแต่ละเรื่องถูกกระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ
ตัวละครหลักถูกกระจายบทบาท เพื่อนำเสนอเป็นตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ นักธุรกิจ ข้าราชการทหาร ศิลปิน ชนชั้นแรงงาน ชนกลุ่มน้อย

นับเป็นการนำศิลปะการละครเต็มรูปแบบมาใช้เพื่อสื่อสาร-เล่าเรื่อง ที่ทั้งสนุก ลึกซึ้ง คมคาย ชวนติดตาม
และละครชุด’พ่อ’นี้ ก็อาจนับได้ว่าเป็นกิจกรรมชิ้นแรกๆ ที่แสดงการเทิดพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเชิงปรัชญา

อะไรคือ ‘เทิดพระเกียรติฯในเชิงปรัชญา’

คำว่า’ปรัชญา’ นั้นมีความหมายว่า หลักแห่งความรู้และความจริง

การเทิดพระเกียรติในเชิงปรัชญา นั้นหมายถึงการเทิดพระเกียรติในหลักการคำสอน วิถีการดำเนินชีวิตที่พระองค์ทรงปฏิบัติ หาใช่ที่ตัวบุคคลหรือวัตถุสิ่งของใดๆ

หลักปรัชญา ที่ล้วนเป็นความรู้ที่มีประโยชน์
หลักปรัชญา ที่เป็นความจริง ซึ่งพิสูจน์ได้

หากว่า ‘พระธรรม’ ในพระพุทธศาสนา ไม่ได้มีไว้เพื่อกราบไหว้ แต่จะเข้าใจและประสบผลก็เมื่อได้นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
หากว่า ‘พระธรรม’ นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายต่อความเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ผู้ที่จะสื่อสารเรื่องพระธรรมก็ต้องมีวิธีสื่อสารที่ให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

สิ่งที่ละครชุด’พ่อ’ สื่อสารกับผู้ชมก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้

ประภาสใช้คำว่า ‘เดิน’ เป็นแกนหลักของละครทั้งหกเรื่อง

ตัวละครหลักของแต่ละเรื่องจะประสบวิกฤติในชีวิต จนดูเหมือนจะเดินต่อไม่ได้ และได้นำแนวคิด หรือวิธีการที่พระองค์พระราชทานไว้ในวาระต่างๆ มาใช้กู้วิกฤติชีวิตของตนเอง

แน่นอนว่าไมใช่ด้วยการท่องจำหรือกราบไหว้ แต่เป็นการศึกษาให้กระจ่างแล้วลงมือปฎิบัติอย่างจริงจัง

####################

พ่อ – ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

####################
การเทิดพระเกียรติในเชิงปรัชญายังสื่อสารออกมาชัดเจนในเพลงนำของละครชุดนี้

บทเพลง ‘พ่อ’ ที่ขับร้องโดย ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ซึ่งประภาสเป็นผู้แต่งคำร้องเอง โดยจับแก่นของละครที่คำว่า ‘พ่อ’ และ’การเดิน’
มาสู่การ ‘เดินตามรอยพ่อ’ และขัดเกลาจนกลายเป็นภาพของเด็กน้อยวัยหัดเดินที่สวมรองเท้าคู่โต ซึ่งเป็นภาพชีวิตที่คุ้นชินของทุกคน

เป็นการเล่าควบรวมทั้งในส่วน ‘พ่อของแผ่นดิน’และ’พ่อ’ในชีวิตจริง

นั่นคือชั้นเชิงด้านศิลปะการสื่อสาร ในการดึงเอาเรื่องที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเชิดชูสูงส่งจนเป็นเรื่องไกลตัว ให้กลับมาใกล้จนรู้สึกและสัมผัสได้

“มันเดินไม่ง่ายนะ ชีวิตคนเรา ถึงตอนนั้นล่ะเราก็จะคิดถึงพ่อ ระดับประเทศชาติเรายังเป็นเลย พอเราเริ่มรู้สึกว่าประเทศมันเดินต่อไปไม่ได้แล้ว เราจะคิดถึงพ่อของแผ่นดิน”
ประภาสกล่าวถึงบทเพลงนี้ไว้ในหนังสือ ‘เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก ฉบับเปลี่ยนฉาก’

5 ธันวาคม พ.ศ.2553
ผมหยิบเพลงนี้มาเปิดฟัง ท่ามกลางบรรยากาศการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ และดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี
วูบความคิดเกิดขึ้นขณะยืนมองพลุสีสวยสว่างวาบ เต็มท้องฟ้า

รองเท้าของพ่อ นั้นมีเรื่องราวมากมายให้ลูกได้ศึกษา ไม่ใช่มีไว้กราบไหว้บูชา
รอยเท้าที่พ่อเคยย่ำผ่าน นั้นก็เป็นการเปิดทางเพื่อให้ลูกได้เดินตามและสานต่อ ไม่ใช่เอาแต่นั่งชื่นชม

สิ่งที่พ่อต้องการที่สุด คงไม่ใช่การเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่กว่าใคร หากแต่เป็นความมั่นใจว่าลูกได้เติบใหญ่และแข็งแรงพอที่จะเดินด้วยตัวเองได้อย่างมั่นคง

ใช่ หรือไม่ใช่นะ

ลมบก
6 ธ.ค.53


No Comments on ข้างหน้าที่ทิ้งไว้ คือรอยเท้าที่พ่อเดิน

KING::ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ November 27, 2010

01.เรื่องเดียวกัน #โดย 6 ผู้กำกับ แฟนฉัน

02.ราชประชานุเคราะห์ #โดย Dr.Head และ เหมันต์ เชตมี

03.เหรียญของพ่อ #โดย นนทรีย์ นิมิบุตร

04.อาม่า #โดย พิง ลำพระเพลิง

05.จากฟ้าสู่ดิน #โดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

06.คนล่าเมฆ #โดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว

07.แผ่นดินของเรา #โดย ยุทธนา มุกดาสนิท

#########

ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553  กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงกลาโหมและกระทรวงคมนาคม ผนึกกำลังจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ 7 เรื่อง ผ่านจอม่านน้ำขนาด 30 เมตร ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รวมถึงโรงภาพยนตร์ในเครือ SFX และเมเจอร์ทุกโรงในกทม.และปริมณฑล ก็จะมีการฉายภาพยนตร์ทั้ง 7 เรื่องให้ประชาชนได้เข้าชมฟรี ส่วนในต่างจังหวัดที่ศาลากลางทั้ง 75 จังหวัด ก็จะมีการฉายภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติทั้ง 7 เรื่องได้ประชาชนได้ชมในช่วงค่ำของวันที่ 5 ธ.ค.เช่นกัน

ภาพยนตร์แต่ละเรื่องกำกับโดยคณะผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 28-30 นาที ภาพยนตร์ทั้ง 7 เรื่องจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อถวายลิขสิทธิ์ จากนั้นจะขอพระบรมราชานุญาตผลิตเป็นวีซีดี 5 ล้านชุด เพื่อนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับชมอย่างทั่วถึงและเป็นสิริมงคลแก่คนไทยทั้งประเทศ

No Comments on KING::ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ