l o m b o g
ลมบกพัดออกทะเล

ข้างหน้าที่ทิ้งไว้ คือรอยเท้าที่พ่อเดิน December 6, 2010

ในยุคก่อนนี้
กิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ ยังนิยมเทิดพระเกียรติด้วยการกล่าวอาเศียรวาท รำถวายพระพร หรือการถ่ายทำสารคดีพระราชประวัติและโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นการสื่อสารตรงไปตรงมา เพื่อเน้นย้ำกับผู้ชมถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

จนกระทั่ง พ.ศ.2542 ประภาส ชลศรานนท์ ได้เสนอโครงการละครเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 โดยรวบรวมพระราชดำรัสและโครงการในพระราชดำริ มาประมวลขึ้นเป็นละครโทรทัศน์ 6 เรื่อง และคัดสรร 6 นักแสดงยอดฝีมือ ณ เวลานั้น มารับบทสำคัญในละคร ประกอบด้วย

เพลงของพ่อ นำแสดงโดย นพพล โกมารชุน
http://www.youtube.com/watch?v=jv9AcW7PcCE

ชีวิตที่พอเพียง นำแสดงโดย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง
http://www.youtube.com/watch?v=gBR3-M3DqUY

วัคซีน นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี
http://www.youtube.com/watch?v=wFeUHgu_vuI

ถั่วแดงหลวง นำแสดงโดย ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง
http://www.youtube.com/watch?v=quU4kLefmIA

เทียนขี้ผึ้ง นำแสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
http://www.youtube.com/watch?v=RYV-P62mYpc

ความฝันอันสูงสุด นำแสดงโดย วิลลี่ แมคอินทอช
http://www.youtube.com/watch?v=kJ31iK-2VmY

ฉากของแต่ละเรื่องถูกกระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ
ตัวละครหลักถูกกระจายบทบาท เพื่อนำเสนอเป็นตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ นักธุรกิจ ข้าราชการทหาร ศิลปิน ชนชั้นแรงงาน ชนกลุ่มน้อย

นับเป็นการนำศิลปะการละครเต็มรูปแบบมาใช้เพื่อสื่อสาร-เล่าเรื่อง ที่ทั้งสนุก ลึกซึ้ง คมคาย ชวนติดตาม
และละครชุด’พ่อ’นี้ ก็อาจนับได้ว่าเป็นกิจกรรมชิ้นแรกๆ ที่แสดงการเทิดพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเชิงปรัชญา

อะไรคือ ‘เทิดพระเกียรติฯในเชิงปรัชญา’

คำว่า’ปรัชญา’ นั้นมีความหมายว่า หลักแห่งความรู้และความจริง

การเทิดพระเกียรติในเชิงปรัชญา นั้นหมายถึงการเทิดพระเกียรติในหลักการคำสอน วิถีการดำเนินชีวิตที่พระองค์ทรงปฏิบัติ หาใช่ที่ตัวบุคคลหรือวัตถุสิ่งของใดๆ

หลักปรัชญา ที่ล้วนเป็นความรู้ที่มีประโยชน์
หลักปรัชญา ที่เป็นความจริง ซึ่งพิสูจน์ได้

หากว่า ‘พระธรรม’ ในพระพุทธศาสนา ไม่ได้มีไว้เพื่อกราบไหว้ แต่จะเข้าใจและประสบผลก็เมื่อได้นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
หากว่า ‘พระธรรม’ นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายต่อความเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ผู้ที่จะสื่อสารเรื่องพระธรรมก็ต้องมีวิธีสื่อสารที่ให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

สิ่งที่ละครชุด’พ่อ’ สื่อสารกับผู้ชมก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้

ประภาสใช้คำว่า ‘เดิน’ เป็นแกนหลักของละครทั้งหกเรื่อง

ตัวละครหลักของแต่ละเรื่องจะประสบวิกฤติในชีวิต จนดูเหมือนจะเดินต่อไม่ได้ และได้นำแนวคิด หรือวิธีการที่พระองค์พระราชทานไว้ในวาระต่างๆ มาใช้กู้วิกฤติชีวิตของตนเอง

แน่นอนว่าไมใช่ด้วยการท่องจำหรือกราบไหว้ แต่เป็นการศึกษาให้กระจ่างแล้วลงมือปฎิบัติอย่างจริงจัง

####################

พ่อ – ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

####################
การเทิดพระเกียรติในเชิงปรัชญายังสื่อสารออกมาชัดเจนในเพลงนำของละครชุดนี้

บทเพลง ‘พ่อ’ ที่ขับร้องโดย ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ซึ่งประภาสเป็นผู้แต่งคำร้องเอง โดยจับแก่นของละครที่คำว่า ‘พ่อ’ และ’การเดิน’
มาสู่การ ‘เดินตามรอยพ่อ’ และขัดเกลาจนกลายเป็นภาพของเด็กน้อยวัยหัดเดินที่สวมรองเท้าคู่โต ซึ่งเป็นภาพชีวิตที่คุ้นชินของทุกคน

เป็นการเล่าควบรวมทั้งในส่วน ‘พ่อของแผ่นดิน’และ’พ่อ’ในชีวิตจริง

นั่นคือชั้นเชิงด้านศิลปะการสื่อสาร ในการดึงเอาเรื่องที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเชิดชูสูงส่งจนเป็นเรื่องไกลตัว ให้กลับมาใกล้จนรู้สึกและสัมผัสได้

“มันเดินไม่ง่ายนะ ชีวิตคนเรา ถึงตอนนั้นล่ะเราก็จะคิดถึงพ่อ ระดับประเทศชาติเรายังเป็นเลย พอเราเริ่มรู้สึกว่าประเทศมันเดินต่อไปไม่ได้แล้ว เราจะคิดถึงพ่อของแผ่นดิน”
ประภาสกล่าวถึงบทเพลงนี้ไว้ในหนังสือ ‘เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก ฉบับเปลี่ยนฉาก’

5 ธันวาคม พ.ศ.2553
ผมหยิบเพลงนี้มาเปิดฟัง ท่ามกลางบรรยากาศการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ และดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี
วูบความคิดเกิดขึ้นขณะยืนมองพลุสีสวยสว่างวาบ เต็มท้องฟ้า

รองเท้าของพ่อ นั้นมีเรื่องราวมากมายให้ลูกได้ศึกษา ไม่ใช่มีไว้กราบไหว้บูชา
รอยเท้าที่พ่อเคยย่ำผ่าน นั้นก็เป็นการเปิดทางเพื่อให้ลูกได้เดินตามและสานต่อ ไม่ใช่เอาแต่นั่งชื่นชม

สิ่งที่พ่อต้องการที่สุด คงไม่ใช่การเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่กว่าใคร หากแต่เป็นความมั่นใจว่าลูกได้เติบใหญ่และแข็งแรงพอที่จะเดินด้วยตัวเองได้อย่างมั่นคง

ใช่ หรือไม่ใช่นะ

ลมบก
6 ธ.ค.53


No Comments on ข้างหน้าที่ทิ้งไว้ คือรอยเท้าที่พ่อเดิน

ผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต August 8, 2010

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต :: ศุ บุญเลี้ยง

คำร้อง/ทำนอง::ประภาส ชลศรานนท์ ; เรียบเรียงดนตรี::จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน ; อัลบั้ม::เปลี่ยนฉาก

‘ผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต’ เป็นคำของจุ้ยที่เขาคิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ได้ยินว่าเคยคิดจะทำหนังด้วย แต่ไม่ได้ทำเพราะเขาบอกว่าคิดไว้แต่ประโยค ยังไม่เคยคิดเนื้อเรื่อง วันหนึ่งมีโครงการจะทำละครเทิดพระคุณแม่ ตั้งใจเลยว่าจะพูดถึงแม่ในอีกแง่มุมหนึ่งแบบน่ารักๆ ก็เลยขอประโยคนี้มาจากจุ้ยมาตั้งชื่อเรื่อง จุ้ยก็ใจดียกให้แถมยังมาช่วยร้องเพลงเอกของละครให้อีกด้วย

ถึงจะเป็นเพลงสนุก ก็มีหลายคนบอกว่าฟังเพลงนี้แล้วน้ำตาคลอ ดนตรีมันมีอานุภาพอย่างนี้แหละ ความสนุกของท่วงทำนองมันทำให้ลูกๆทุกคนที่ฟังเพลง จะนึกถึงเรื่องราวในอดีตที่เราเคยมีความสุขกับแม่ แล้วก็นึกตามเนื้อเพลงไป

:: จากหนังสือ ‘เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก ฉบับเปลี่ยนฉาก’

########################

แค่ได้ฟังครั้งแรก จากการเป็นเพลงต้นเรื่องของละครโทรทัศน์เมื่อหลายปีก่อน เพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงประจำวันแม่สำหรับผมไปในทันที เบียดเพลง’อิ่มอุ่น’ซึ่งยึดครองตำแหน่งมาเกือบสิบปี และตำแหน่งเดียวกันนี้ ก่อนหน้านั้นถูกผูกขาดโดยเพลง’ค่าน้ำนม’ ที่ได้ร้องบรรเลง เคล้าน้ำตากันปีละครั้งตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาลจนจบมัธยม

มีใครไม่เคยโกหกแม่บ้าง ?

จากคำถามพื้นๆ ที่ถูกขัดเกลาขยายความจนกลายเป็นละคร 2 ตอนจบ ออกฉายทางโทรทัศน์ในปี พ.ศ.2547 โดยกลุ่มกระดาษพ่อ-ดินสอแม่ ที่มีแกนนำชื่อ ประภาส ชลศรานนท์  เนื้อหาละครว่าด้วยเรื่องการเดินทางจากบ้านนอกไปเยี่ยมลูกทั้งสามคนของ ‘ยายไหม’ เพื่อไปเลียบๆเคียงๆ ดูการเจริญเติบโตตามเส้นทางชีวิตของลูกแต่ละคน และไขว้กลับด้วยลูกทั้งสามเดินทางไปเซอร์ไพรส์แม่ที่บ้านนอกเนื่องในวาระวันแม่ แต่กลับต้องเป็นฝ่ายเจอเซอร์ไพรส์เข้าเสียเอง

เพลงนำเรื่อง แต่งขึ้นมาจากประโยคลอยๆ ของศุ บุญเลี้ยง ที่เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ และชื่อเพลงก็ถูกนำมาใช้เป็นชื่อละคร ท่วงทำนองเพลงสนุกเล่าถึงแม่ในเชิงทีเล่นทีจริง ใช้ถ้อยคำง่ายๆกับเรื่องราวใกล้ตัว ที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เนื้อหา-อารมณ์ของละครก็เดินไปในท่วงทำนองเดียวกันเพลง

ชีวิตจริงก็เป็นอย่างเดียวกันนั้น เพราะเราไม่ได้ยกแม่วางไว้บนหิ้งตลอดเวลา

แต่ละเส้นทางของแต่ละชีวิตที่ต่างดำเนินไป ย่อมมีสุข มีเศร้า มีอารมณ์หลายหลาก มีปัจจัย มีบุคคล มีเรื่องราวมากมายประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ก็ใช่จะมีแต่ความซาบซึ้งบุญคุณน้ำตาไหลพรากกันร่ำไป การจะทำละครที่เล่าเรื่องของแม่ให้ดูสนุกก็ทำได้ อยู่ที่ผู้สร้างว่าจะหยิบแง่มุมใดขึ้นมาเล่า

‘ผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต’ เลือกที่จะเล่าในประเด็นของความคาดหวังที่ต่างฝ่ายมีต่อกัน

“คนเรามักจะเป็นทุกข์ เพราะกลัวคนอื่นจะเสียใจในสิ่งที่เขาคาดหวัง กลัวว่าจะเป็นไม่ได้ ในสิ่งที่อยากให้เขาเห็น

แต่เชื่อสิ ว่ามีบางคนรับได้ในทุกสิ่งที่เราเป็น”

ลมบก/100809

ชมละครฉบับเต็มได้ที่ :: ผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต

3 Comments on ผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต